การนิเทศการสอน : ยาหม้อใหญ่ที่ครูควรกิน


ครูหลาย ๆ คนคงรู้สึกขยาดกับคำว่า “นิเทศการสอน” คงรู้สึกอึดอัดหากรู้ว่าจะมีใครสักคน เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนจัดการเรียนการสอนของตนเอง ไหนจะต้องเข้ามาดูแผนการจัดการเรียนรู้ ไหนจะต้องมาดูบรรยากาศการเรียนการสอน ต้องมาดูว่ามีการนำเข้าสู่บทเรียนที่น่าสนใจ มีการสรุปข้อมูลที่ถูกต้อง มีการสร้างแรงเสริมให้กับนักเรียน มีเทคนิคการสอนที่หลากหลายหรือไม่ ถ้าจัดบรรยากาศการเรียนรู้ไม่ดี จะถูกต่อว่าต่อหน้าเด็กนักเรียนหรือเปล่า ความกังวลต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้น ทำให้มุมมองของครูที่มีต่อการนิเทศการสอนเหมือนกับการฝืนกินยาหม้อใหญ่ ซึ่งถ้าครูสามารถหลีกเลี่ยงได้ ครูก็พร้อมหลีกทางให้กับการนิเทศการสอนด้วยความเต็มใจ
สาเหตุที่ครูเกิดมุมมองที่ไม่สู้จะดีต่อการนิเทศการสอน เนื่องจากครูคิดว่าไม่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งอาจจะจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ดีพอ สื่อการสอนไม่น่าสนใจ หรือเทคนิคการสอนที่ไม่หลากหลาย แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ครูมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการนิเทศการสอน ครูส่วนใหญ่คิดว่า การนิเทศการสอนคือ การจ้องจับผิดจากผู้บริหาร การเข้ามาเพื่อหาข้อบกพร่องของผู้สอน ความเข้าใจผิดในเบื้องต้น เป็นผลให้การนิเทศการสอนถูกปฏิเสธจากครูโดยสิ้นเชิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวกับกับกระบวนการนิเทศการสอน ต้องประชุม ชี้แจง เพื่อปรับเจตคติของครู ให้ครูเข้าใจถึงเหตุผลของการนิเทศการสอนให้ถูกต้อง
ความหมายของการนิเทศการสอน
การนิเทศการสอน คือ กระบวนการของความร่วมมือกับผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงการสอนของครู และการเรียนการสอนของเด็กให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง (Dynamic) มากกว่าเชื่อง ช้า (Static) ไม่ทันสมัย ความมุ่งหมายของการนิเทศ มุ่งส่งเสริมให้ครูเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพ ปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้น (อารมณ์ ฉนวนจิตร อ้างถึง ชารี มณีศรี : 2538, 29)
กระบวนการในการนิเทศการสอน
การวางแผน (Planning) เป็นการกำหนดแผนงานที่จะทำ ซึ่งต้องจัดทำตารางงาน กำหนดว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ โดยต้องทำเป็นโครงการ กำหนดเค้าโครงตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ พร้อมทั้งคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นด้วย
กระบวนการจัดสายงาน (Organizing Processes) เป็นกระบวนการจัดบุคลากรต่าง ๆ เพื่อทำงานตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งต้องกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการทำงาน ประสานงานกับบุคลากรที่จะปฏิบัติงาน จัดสรรทรัพยากรเพื่อการดำเนินงาน มอบหมายงานพร้อมระบุหน้าที่ของบุคลากร จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำงาน จัดทำโครงสร้างในการปฏิบัติงาน และพัฒนานโยบายในการทำงาน
กระบวนการนำ (Leading Processes) ต้องทำการสื่อสารเพื่อความเข้าใจในคณะทำงาน สร้างแรงจูงใจและอำนวยความสะดวกในการทำงาน พร้อมกับตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ โดยต้องแสดงตัวอย่างในการทำงาน ขั้นตอนการทำงานและสาธิตการทำงาน
กระบวนการควบคุม (Controlling Processes) เพื่อให้การนิเทศการสอนดำเนินไปตามแผนงาน ต้องมีการสร้างกฎเกณฑ์ในการทำงาน แนะนำวิธีดำเนินการ หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ต้องว่ากล่าวตักเตือน พร้อมกับเร่งเร้าให้มีการพัฒนา
กระบวนการประเมินสภาพการทำงาน (Assessing Processes) เป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งต้องตัดสินเกี่ยวกับการดำเนินการ วัดพฤติกรรมและทำวิจัยผลงาน
การนิเทศแบบคลินิก (Clinical Supervision)
การนิเทศแบบคลินิก คือ กระบวนการสังเกตการสอนในชั้นเรียน โดยมีการดำเนินการอย่างมีระบบ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ของครู โดยครูและผู้นิเทศจะร่วมมือในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ การสังเกตการณ์สอน และการประเมินแนวทางการจัดการเรียนรู้ โดยมีขั้นตอนในการนิเทศการสอนตามรูปแบบของโกลด์แฮมเมอร์ (Goldhammer) 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. การประชุมปรึกษาก่อนการสังเกตการณ์สอน เพื่อทำความเข้าใจและตกลงระหว่างครูและผู้นิเทศ
2. การสังเกตการสอน เป็นการดำเนินการสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู
3. การวิเคราะห์ข้อมูลและวิธีการประชุม คือการรวบรวมข้อมูล คิดวิเคราะห์และวางแผนร่วมกัน
4. การประชุมนิเทศ เป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับพฤติกรรมการสอนของครู
5. การประชุมวิเคราะห์พฤติกรรมการนิเทศ เป็นการเปิดโอกาสให้ครูและผู้นิเทศได้ทบทวนการปฏิบัติงาน ส่วนที่ต้องพัฒนา โดยครูต้องยอมรับข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับพฤติกรรมการนิเทศ
ประโยชน์ของการนิเทศการสอน
1. ช่วยพัฒนาคุณภาพของครู ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังกระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยครูจะได้ทราบศักยภาพการทำงานของตน เพื่อพัฒนาตนเอง โดยมีผู้นิเทศเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ และที่สำคัญยังเพิ่มความมั่นใจในการสอนของครู หากครูมีความพร้อมในการสอน
2. ช่วยพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน เมื่อครูได้พัฒนาตนเองตามที่ผู้นิเทศได้แนะนำแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ย่อมจะส่งผลถึงผู้เรียนโดยตรง ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยความสนุก เพราะครูเตรียมการสอนอย่างดี
3. ช่วยพัฒนางานด้านวิชาการภายในสถานศึกษาให้มีคุณภาพ เมื่อครูดี เด็กดี คุณภาพของงานด้านวิชาการก็ต้องดีตามไปด้วย
4. ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับบุคลากร เมื่อครูทุกคนเปิดใจพร้อมรับการนิเทศการสอน มีการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ มีการให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ ด้วยใจที่เป็นกัลยาณมิตรแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีย่อมเกิดขึ้น นั่นหมายถึงองค์กรที่เข้มแข็งด้วย
การนิเทศการสอน เป็นหัวใจของการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับครูในระหว่างการจัดการเรียนรู้ เนื่องจากครูได้รับคำแนะนำที่ดีจากผู้นิเทศ และได้ร่วมมือกันพัฒนากระบวนการให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง นั่นหมายถึงผู้เรียนก็ได้รับกระบวนการที่มีคุณภาพ เรียนรู้ด้วยความสนใจใคร่รู้ เต็มใจและพร้อมที่จะเรียนรู้มากขึ้น หากครูผู้เปรียบตัวเองว่าเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ ยังไม่พร้อมหรือยอมรับการนิเทศการสอนเพื่อพัฒนาตนเอง แล้วจะตั้งความหวังอะไรได้กับเด็กผู้เปรียบเสมือนผ้าขาวที่จะเป็นอนาคตของ ชาติอีกต่อไป..

ใส่ความเห็น